for all
well-being

Whizdom banner

REGISTER FORM

REGISTER FORM

ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บเผย 4 ภาพสถานการณ์การพัฒนากรุงเทพฯ ในอนาคต

News
3 ปีที่แล้ว
  • MQDC
  • /
  • CSR
  • /
  • ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บเผย 4 ภาพสถานการณ์การพัฒนากรุงเทพฯ ในอนาคต
ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บเผย 4 ภาพสถานการณ์การพัฒนากรุงเทพฯ ในอนาคต

ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บเผย 4 ภาพสถานการณ์การพัฒนากรุงเทพฯ ในอนาคต

ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บเผย 4 ภาพสถานการณ์การพัฒนากรุงเทพฯ ในอนาคต

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2563, กรุงเทพฯ – ทุกครั้งที่เข้าสู่ฤดูฝน กรุงเทพฯซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ราบลุ่ม และมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ มักเกิดสภาวะน้ำท่วมขังส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของคนมากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดการตั้งคำถามว่าในอนาคตกรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไร จะเกิดน้ำท่วมกลายไปเป็นเมืองลอยน้ำหรือไม่ รวมถึงจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด

ดร.การดี เลียวไพโรจน์ หัวหน้าคณะที่ปรึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย MQDC เปิดเผยว่า “ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บได้ทำการศึกษาและวิจัยในเรื่องแนวโน้มของการดำรงชีวิตของคนเมืองและรูปแบบการพัฒนากรุงเทพฯ ในอนาคต เราจึงได้ทำการศึกษาเพื่อให้เห็นถึงผลกระทบของเมืองในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้น และเพื่อที่จะมองว่าเมืองอย่างกรุงเทพฯ ในอนาคตนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร โดยคาดการณ์รูปแบบเมืองได้เป็น 4 สถานการณ์ ได้แก่

1.กรุงเทพ เมืองสีเขียว (Green Metropolis) กรุงเทพสามารถพัฒนาเป็นเมืองสีเขียวได้หากมีการจริงจังด้านกฎหมายและการเปลี่ยนวิถีชีวิตของคนเมืองด้วยการปรับตึกสูงให้กลายเป็นอาคารสีเขียวที่ได้รับการออกแบบอย่างดี โดยคำนึงถึงการใช้ทรัพยากร พลังงาน และสภาพแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเราจะสามารถสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพกายที่ดี รวมไปถึงสุขภาพใจที่พร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในเมืองใหญ่

2.กรุงเทพ เมืองแห่งแม่น้ำ (River City) เมื่อระดับน้ำในเมืองมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นและพื้นดินที่อาศัยทรุดตัวลงอย่างหลีกเหลี่ยงไม่ได้ ส่งผลให้ผู้คนต้องปรับตัว โดยจำเป็นต้องมีนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยให้เราสามารถตั้งถิ่นฐานบนผิวน้ำได้ และก่อให้เกิดการเติบโตจนเป็นเมืองที่สามารถอยู่รอดได้แม้จะมีผืนแผ่นดินที่น้อยลง พร้อมด้วยการพัฒนาที่อยู่อาศัยให้อยู่ร่วมกับน้ำได้อย่างยั่งยืน เช่น ชุมชนการค้าลอยน้ำ ที่ทำให้เกิดจุดเชื่อมต่อการเดินทาง ซึ่งถือเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้คนที่ใช้ชีวิตร่วมกับแม่น้ำ เป็นต้น

3.กรุงเทพ เมืองป้องกันมลพิษ (Indoor City) เมื่อสภาพเมืองในอนาคตพังทลาย อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น มลพิษทางอากาศที่ย่ำแย่ ยากต่อการใช้ชีวิตภายนอกอาคาร ซึ่งการปรับตัวของเมืองภายใต้สภาวะอากาศภายนอกที่เป็นพิษ อาจจะมีการสร้างทางเดินเชื่อมระหว่างอาคารเพื่อไปยังสถานที่ต่าง ๆ ในเมือง จากสถานการณ์นี้ คาดการณ์ได้ว่าจะเกิดความเหลื่อมล้ำแบบสุดขั้ว ทั้งในรูปแบบการเข้าถึงสิทธิ์อากาศหายใจที่สะอาด ซึ่งควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตทุกประเภทที่ไม่ใช่เพียงแค่มนุษย์เท่านั้น

4.กรุงเทพฯ เมืองรับมือกับภัยพิบัติ (Disaster – Resilient City) สถานการณ์ที่อยากให้เกิดมากที่สุดในรูปแบบเมืองที่เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น คือมุมมองการพัฒนาเมืองไปพร้อมกับการรับมือภัยพิบัติ เช่น การปรับพื้นที่สีเขียวในหน้าแล้งเป็นพื้นที่รับน้ำในฤดูฝน พร้อมทั้งควรมีพื้นที่รองรับน้ำเพื่อกักเก็บน้ำไว้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ภายในเมืองหรือพื้นที่ชุมชนใกล้เคียง รวมถึงการเตรียมพื้นที่สาธารณะที่สามารถรองรับกิจกรรมต่างๆ ของผู้คน ซึ่งหากเกิดภัยพิบัติขึ้น ยังสามารถเปลี่ยนเป็นพื้นที่รองรับคนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ และตั้งเป็นจุดช่วยเหลือได้ในเวลาจำเป็น

“เราเชื่อว่าวิถีการดำเนินชีวิตและพฤติกรรมต่างๆ ของพวกเราทุกคนในปัจจุบัน ล้วนจะส่งผลให้อนาคตมีการเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่มุมการใช้ชีวิต การอยู่อาศัย การใช้เทคโนโลยี การเดินทาง และการดูแลสุขภาพ ตลอดจนแนวโน้มของนโยบายภาพใหญ่ของภาครัฐบาล ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงสิ่งที่พวกเราต้องเตรียมตัวในหลากหลายมิติ ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมความพร้อมรับมืออย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคตข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน” ดร.การดี กล่าวทิ้งท้าย

ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฟิวเจอร์เทลส์ แล็บได้ที่  https://www.futuretaleslab.com/