ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) และอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นภาวะที่สมองมีการทำงานเสื่อมถอยลง หรือมีความผิดปกติของโครงสร้างเนื้อเยื่อเซลล์สมอง โดยอาการจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ แบบค่อยเป็นค่อยไปที่ละน้อย อาจเริ่มจากการหลงลืมเล็กๆ น้อยๆ
กระทั่งเริ่มมีอาการหลงลืมในระดับที่รุนแรงขึ้นร่วมกับมีภาวะด้านอื่น เช่น มีความบกพร่องทางด้านความคิด การตัดสินใจ การสื่อสาร ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้และไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี อาจนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมที่รุนแรงขึ้น และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในระยะยาวได้
แน่นอนว่าอายุที่เพิ่มขึ้นและความเสื่อมถอยของร่างกายรวมถึงสมอง เป็นเรื่องที่เราเองนั้นไม่อาจควบคุมได้ แต่ภาวะสมองเสื่อมสามารถป้องกันหรือชะลอการเกิดได้ ซึ่งสอดคล้องกับที่ Dr.Howard Chertkow นักวิจัยอาวุโสและผู้บริหารของศูนย์วิจัยด้านประสาทวิทยาการเรียนรู้จดจำ (Cognitive Neurology and Innovation) จากสถาบันวิจัย Rotman โดย Baycrest กล่าวไว้ว่า “1 ใน 3 ของผู้ที่มีภาวะป่วยโรคสมองเสื่อมสามารถชะลอการเกิดโรคได้ หากใส่ใจดูแลสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ”
โดยมีการศึกษาพบว่าโรคประจำตัวบางอย่างหรืออาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ในร่างกาย จะส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองในทางที่แย่ลง ทำให้การจดจำเสื่อมถอยลงซึ่งนำไปสู่ภาวะสมองเสื่อมได้ ตัวอย่างเช่น โรคไตเรื้อรัง, ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Obstructive sleep apnea; OSA) ที่มักเกิดร่วมกับการนอนกรน เป็นต้น ดังนั้นการดูแลร่างกาย ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ และหากมีภาวะดังกล่าวควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยจึงเป็นเรื่องสำคัญ
ไตวายเรื้อรังสัมพันธ์กับภาวะสมองเสื่อม
งานวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์ของผู้ที่มีภาวะไตเรื้อรังต่อภาวะสมองเสื่อม พบว่าผู้ที่มีภาวะไตวายมีโอกาสที่จะเกิดโรคสมองเสื่อมมากกว่าคนทั่วไป ซึ่งตัวบ่งชี้สำคัญคือ ระดับโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะ (Albuminuria)
โดยปกติแล้วเมื่อเลือดไหลผ่านไตจะเกิดการกรองผ่านหลอดเลือดที่ไต เพื่อขับน้ำส่วนเกินและของเสียออกนอกร่างกายในรูปปัสสาวะ ในภาวะปกติแล้วโปรตีนอัลบูมินจะไม่ถูกกรองผ่านไต จึงไม่สามารถตรวจพบได้ในปัสสาวะ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่การกรองของหลอดเลือดที่ไตทำงานบกพร่องไป จะสามารถตรวจพบโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะได้
การศึกษานี้ ได้ทำการทดสอบทักษะความจำและการคิด ร่วมกับการวัดระดับโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะในอาสาสมัครที่มีอายุมากกว่า 65 ปี จำนวนมากกว่า 2,000 คน พบรายงานว่า
- 15% ของอาสาสมัคร มีความบกพร่องของความจำและการคิด แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
- 12% ของอาสาสมัคร มีภาวะสมองเสื่อมโดยมีความบกพร่องของความจำ การมีสมาธิและการตัดสินใจ ซึ่งมีผลกระทบต่อการเข้าสังคมและการประกอบอาชีพ
- และพบว่า 50% ของอาสาสมัครที่พบโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะจะเกิดร่วมกับภาวะสมองเสื่อม
จากงานวิจัยข้างต้นนี้ บ่งชี้ได้ว่าการตรวจพบโปรตีนอัลบูมินในปัสสาวะอาจเป็นตัวบ่งชี้ที่สัมพันธ์กับกับภาวะสมองเสื่อมได้
และมีงานวิจัยที่มีข้อสรุปออกมาในทิศทางเดียวกัน โดยทำการศึกษาผลของการทำงานของไตต่อสมอง ในอาสาสมัครที่มีอายุมากกว่า 45 ปี จำนวนมากกว่า 23,000 คน โดยประเมินการทำงานของสมองโดยใช้แบบประเมินการเรียนรู้และจดจำ (Cognitive screening test) ที่สามารถแสดงถึงการทำงานของสมองที่ผิดปกติได้เบื้องต้น ควบคู่ไปกับการวัดการทำงานของไต ผลการศึกษาพบว่า อาสาสมัครที่มีการทำงานของไตบกพร่อง จะมีโอกาสในการเกิดภาวะสมองเสื่อมสูงขึ้นตามระดับของความเสียหายของไต
ดังนั้น การดูแลสุขภาพไตรวมถึงการตรวจพบและรักษาความผิดปกติของไตได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นการช่วยป้องกันหรือชะลอความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสมองที่จะส่งผลนำไปสู่การเกิดภาวะสมองเสื่อมได้
นอนกรนอาจส่งผลต่อภาวะสมองเสื่อม
นอกจากการศึกษาในกลุ่มผู้ที่มีโรคไตที่กล่าวมาข้างต้นแล้วนั้น ยังมีการศึกษาในกลุ่มผู้ที่มีโรคทางเดินหายใจที่อาจส่งผลต่อภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน โดยพบว่าคุณภาพของการนอนหลับที่ไม่ดีพอมีความสัมพันธ์กับการเกิดสมองเสื่อม
จากข้อมูลการศีกษารวบรวมจากหลายงานวิจัยพบว่า ในกลุ่มผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ มักมีการนอนกรนร่วมด้วย ซึ่งการหยุดหายใจระยะสั้นๆ เป็นระยะเวลานาน จะมีผลให้สมองได้รับออกซิเจนไปเลี้ยงในปริมาณที่น้อยลง ส่งผลให้เกิดภาวะการอักเสบและมีการสร้างอนุมูลอิสระ ส่งผลให้เกิดการเสื่อมของเซลล์ประสาทและสมอง
ทำให้การทำงานของสมองบกพร่องทั้งด้านการคิด การเรียนรู้ ความจำและการตัดสินใจ หากเกิดขึ้นแบบเรื้อรังพบว่าสัมพันธ์กับการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ ที่สำคัญยังพบว่าการขาดออกซิเจนระยะสั้น เป็นเวลานาน ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน โรคความดันเลือดสูง และโรคหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งโรคเหล่านี้ยังพบว่ามีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะสมองเสื่อมด้วยเช่นกัน
นอกจากนั้นผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ส่งผลให้การนอนหลับไม่มีประสิทธิภาพ นอนหลับไม่สนิท หลับ ๆ ตื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการนอนหลับในระยะที่สำคัญ ซึ่งเป็นระยะที่มีการส่งเสริมพัฒนาการด้านสมอง ทั้งในด้านการเชื่อมต่อของระบบประสาทส่วนกลางที่มีผลต่อการเรียนรู้ การตัดสินใจ การประมวล และการเก็บเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้เป็นความจำระยะยาว เมื่อระยะการนอนหลับดังกล่าวถูกรบกวนจึงส่งผลให้เกิดภาวะสมองเสื่อมตามมาได้
จากการศึกษาที่ได้กล่าวมาข้างต้นของทั้งผู้ที่มีภาวะไตเรื้อรัง และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ หรือการมีโรคประจำตัวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ล้วนมีความสัมพันธ์กับภาวะสมองเสื่อม โดยมีกลไกที่ส่งผลให้การทำงานของสมองบกพร่องทั้งในระดับเซลล์และสะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมในด้านพฤติกรรมการเรียนรู้และจดจำ หากไม่ได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีอาจส่งผลให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้ในระยะยาว
ดังนั้นการดูแลป้องกันหรือการชะลอให้สุขภาพร่างกายของผู้ที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ อยู่ในเกณฑ์ที่ควบคุมได้ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีได้ถึงแม้ว่าอายุของคุณจะเพิ่มมากขึ้นก็ตาม
The Aspen Tree The Forestias บ้านแห่งความสุขใส่ใจคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์ของวัยอิสระ
พร้อมรับมือกับอายุที่มากขึ้น ใช้ชีวิตในวัย 50+ หรือวัยอิสระได้อย่างเต็มที่ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในทุก ๆ ด้านของคุณ ที่ The Aspen Tree The Forestias เรามีทีมผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลและประเมินสุขภาพของคุณอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งออกแบบกิจกรรม Health & Wellness ต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคุณโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันและชะลอการเป็นโรคที่เกี่ยวกันภาวะทางสมอง หรือภาวะความทรงถดถอย เช่นโรคสมองเสื่อม (Dementia) รวมถึงดูแลคุณให้มีความสุขในทุกช่วงชีวิต
ใช้ชีวิตอย่างไร้กังวลในช่วงเวลาอิสระของชีวิต ร่วมค้นหาคำตอบของชีวิตที่สมบูรณ์แบบไปด้วยกัน
รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก https://mqdc.link/3kiVJdM
โทร. 1265
LINE OA : @TheAspenTree หรือ คลิก https://mqdc.link/3ZKt95j
อ้างอิงข้อมูลจาก
- https://www.kidney.org/news/ekidney/august08/Dementia_august08
- Omonigho M Bubu. and et.al. Sleep Med Rev. 2020. DOI:10.1016/j.smrv.2019.101250