ลงทะเบียน
CHAT
WITH US

ไขข้อข้องใจ หลงลืมธรรมดา กับอัลไซเมอร์ ต่างกันอย่างไร?

ไขข้อข้องใจ หลงลืมธรรมดา กับอัลไซเมอร์ ต่างกันอย่างไร?

ทุกท่านคงเคยมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ มาบ้างไม่มากก็น้อย หรืออาจสังเกตว่าญาติผู้ใหญ่ของท่านมีอาการเหล่านั้นด้วยเช่นกัน ซึ่งอาจทำให้ท่านกังวลใจ เพราะกำลังคิดว่าอาการหลงลืมนั้น เป็นอาการของโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์หรือไม่ ?

จริง ๆ แล้วอาการหลง ๆ ลืม ๆ ถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุก ๆ คน ไม่ว่าจะมีอายุเท่าไหร่ อาจเป็นอาการหลงลืมที่ไม่น่ากังวลใจอะไร เป็นการหลง ๆ ลืมๆ ปกติทั่วไปหรืออาจเกิดขึ้นได้ตามวัย แต่อย่างไรก็ตาม ลักษณะของอาการหลงลืมบางอย่างนั้น ต้องคอยสังเกตและให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของโรคสมองเสื่อมได้

สิ่งที่สำคัญคือเมื่อไหร่ที่เราควรต้องกังวัลเกี่ยวกับอาการหลงลืมที่เกิดขึ้นว่าเป็นอาการหลงลืมธรรมดา หรืออาการหลงลืมจาก “โรคอัลไซเมอร์”

สารบัญ

  • อาการหลง ๆ ลืม ๆ กับอายุที่เพิ่มมากขึ้น
  • โรคสมองเสื่อมคืออะไร?
  • อาการหลง ๆ ลืม ๆ กับภาวะโรคเสื่อมต่างกันอย่างไร?
  • อัลไซเมอร์คืออะไร?
  • ปัญหาความจำกับอายุที่เพิ่มขึ้น
  • จะทราบได้อย่างไรว่าหลงลืมแบบไหนเป็นภาวะอัลไซเมอร์?
  • สาเหตุของอาการหลง ๆ ลืม ๆ
    • อายุที่เพิ่มขึ้น
    • โรคต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อความจำ
    • ปัญหาทางอารมณ์
    • ภาวะความรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย (mild cognitive impairment)
    • กลุ่มอาการภาวะสมองเสื่อมอื่น ๆ
  • เราควรทำอย่างไรหากคุณหรือญาติพี่น้องมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ

อาการหลง ๆ ลืมๆ กับอายุที่เพิ่มขึ้น

อายุที่มากขึ้นทำให้อวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายเสื่อมไปตามกาลเวลา สมองก็เช่นกัน การที่อายุมากขึ้นประสิทธิภาพการทำงานของสมองก็จะลดลงไปด้วย เช่น ลืมว่าเอาของไปวางไว้ไหน ต้องใช้เวลาทบทวนนานขึ้นกว่าจะนึกออกว่าเอาของไปวางไว้ที่ใด ต้องใช้เวลาการเรียนรู้สิ่งใหม่นานขึ้น เช่น การใช้โทรศัพท์มือถือ การใช้คอมพิวเตอร์ เดินไปหยิบของแล้วนึกไม่ออกว่าจะไปหยิบอะไร นึกคำที่จะพูดไม่ออก ทำของหายบางครั้งคราว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติเมื่ออายุมากขึ้น

โรคสมองเสื่อมคืออะไร?

ภาวะสมองเสื่อมหรือโรคสมองเสื่อม (dementia) เป็นโรคของสมองแบบหนึ่งที่เกิดจากเนื้อเยื่อสมองเสื่อมสลาย เป็นโรคที่มักจะค่อยเป็นค่อยไป โดยผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมจะมีปัญหาในด้านความจำ  ความคิด การตัดสินใจ การใช้ตรรกะและเหตุผล การสื่อสาร มีอารมณ์ผิดปกติ และมักมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน ซึ่งโรคสมองเสื่อมนี้เป็นกลุ่มอาการที่มีความหมายค่อนข้างกว้าง จะเห็นได้ว่าโรคสมองเสื่อมนี้มีความผิดปกติไม่ใช่แค่ความจำเท่านั้น แต่มีความผิดปกติด้านอื่น ๆ ร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักพบในคนที่มีอายุ 60 ขึ้นไป โรคในกลุ่มของโรคสมองเสื่อมที่มีการพูดถึงกันบ่อยก็คือ โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease)” ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อมที่พบได้มากที่สุด

“อาการหลง ๆ ลืม ๆ” กับ “โรคสมองเสื่อม” ต่างกันอย่างไร?

อาการหลง ๆ ลืม ๆ หรืออาการขี้ลืม เป็นอาการที่ทุกท่านต้องเคยเป็นอย่างแน่นอน แต่อาการหลง ๆ ลืม ๆ นั้นถือว่าเป็นเรื่องปกติที่เป็นกันได้ อาจเกิดจากการที่เราไม่ได้จดจ่ออยู่กับสิ่งที่เราทำ มีเรื่องที่แทรกเข้ามาในความคิดขณะที่กำลังทำบางสิ่งบางอย่างอยู่ หรือมีเหตุการณ์ที่แทรกเข้ามา เช่น มีคนเรียกขณะที่กำลังนำของไปเก็บทำให้ลืมไปว่าเอาของไปเก็บไว้ตรงไหน หรือเมื่ออายุมากขึ้นก็อาจจะทำให้คิดเลขช้าลง หรือเรียนรู้กิจกรรมใหม่ ๆ ได้ช้าลง ซึ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นอาการหลงลืมแบบปกติ

ในขณะที่ผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมจะมีอาการหลงลืมที่รุนแรง เช่น ลืมทางกลับบ้าน ลืมวัน ลืมเวลา ลืมว่าไปไหนมา ลืมวางของทิ้งไว้ โดยที่ไม่สามารถทบทวนความคิดหรือจำได้เลยว่าวางไว้ตรงไหน ลืมชื่อคนในครอบครัว เป็นต้น และนอกจากปัญหาด้านความจำผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมจะมีปัญหาด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น มีปัญหาด้านความคิด การตัดสินใจ การสื่อสาร ไม่สามารถแก้ปัญหาง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันได้ เช่น ไม่สามารถแยกไม้แขวนเสื้อที่พันกันให้ออกจากกันได้ เรียกชื่อสิ่งของผิด เช่น เรียกช้อน เป็นส้อม ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ เช่น ลืมวิธีอาบน้ำ ลืมวิธีใส่เสื้อผ้า ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ ผู้ที่เป็นโรคจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งทางด้านสุขภาพ และการใช้ซีวิตประจำวัน

อัลไซเมอร์คืออะไร?

โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นโรคในกลุ่มโรคสมองเสื่อมโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากมีการเสื่อมของสมองแบบค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ผู้ที่เป็นโรคนี้มีปัญหาด้านความจำ ความคิด การตัดสินใจ และท้ายที่สุดจะไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันส่วนเองตัวได้ จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือและดูแลอย่างใกล้ชิด โรคนี้มักพบในคนที่มีอายุมากกว่า 60 ปี แต่อย่างไรก็ตามมีการพบว่าผู้ที่อายุ 30-60 ปีก็สามารถเป็นอัลไซเมอร์ได้เช่นกัน โดยเรียกโรคอัลไซเมอร์ในคนอายุ 30-60 ปีว่า early-onset Alzheimer’s

จะทราบได้อย่างไรว่าหลงลืมแบบไหนเป็นภาวะอัลไซเมอร์?

แม้ว่าอาการหลงลืมธรรมดากับหลงลืมที่เป็นโรคอัลไซเมอร์จะมีความแตกต่างกัน แต่บางครั้งการแยกการหลงลืมปกติกับหลงลืมแบบอัลไซเมอร์เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนัก ตารางด้านล่างนี้อาจจะช่วยใช้แยกการหลงลืมที่เกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้น กับหลงลืมแบบอัลไซเมอร์ได้ง่ายขึ้น

หลงลืมตามอายุ

หลงลืมแบบอัลไซเมอร์

ตัดสินใจผิดพลาดเป็นบางครั้ง

มีการใช้วิจารณญาณและการตัดสินใจผิดพลาดเป็นประจำ

ลืมจ่ายบิลต่าง ๆ บางครั้ง

ไม่สามารถจำการจ่ายบิลหรือจัดการค่าใช้จ่ายประจำเดือนได้

ลืมวันบ้าง แต่จะนึกออกได้ภายหลัง

จำวันและเวลาไม่ได้

ลืมคำบางคำที่จะใช้สนทนาหรือพูดคุย

ไม่สามารถสร้างประโยคที่ใช้สนทนาหรือสื่อสารได้

ทำของหายบ้างบางครั้ง บางคราว

ทำของหายบ่อย ๆ และไม่สามารถทบทวนความจำ หรือหาของนั้นเจอได้

สาเหตุของอาการหลง ๆ ลืม ๆ

อาการหลง ๆ ลืม ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้

อายุที่เพิ่มขึ้น

อายุที่เพิ่มขึ้นก็จะส่งผลให้ประสิทธิภาพของสมองลดลงด้วย ซึ่งการหลงลืมจากอายุที่มากขึ้นนี้เป็นเรื่องปกติ และไม่ใช่อาการของโรคอัลไซเมอร์ แต่หากอาการหลง ๆ ลืม ๆ นั้นเป็นมากและรุนแรงขึ้น ก็อาจจะต้องปรึกษาแพทย์และต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด

โรคต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อความจำ

โรคบางโรคหรือภาวะบางอย่างสามารถทำให้มีปัญหาด้านความจำได้ ซึ่งอาการหลง ๆ ลืม ๆ เหล่านี้จะดีขึ้นเมื่อมีการรักษาโรคที่เป็นสาเหตุแล้ว ซึ่งโรคที่อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับความจำได้ เช่น

  • โรคเนื้องอกของสมอง
  • มีลิ่มเลือดในสมอง
  • มีการติดเชื้อในสมอง
  • โรคไทรอยด์ โรคไต หรือโรคตับ
  • ดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป
  • มีการการบาดเจ็บของสมอง หรืออุบัติเหตุต่าง ๆ
  • ผลข้างเคียงของยาบางชนิด
  • ขาดการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หรือร่างกายขาดวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็น เช่น วิตามิน B12

ปัญหาทางอารมณ์

ปัญหาทางอารมณ์ เช่น ความเครียด ความกังวล ภาวะซึมเศร้า สามารถทำให้มีปัญหาเกี่ยวกับความจำทำให้เกิดอาการหลง ๆ ลืม ๆ ได้ ซึ่งบางครั้งอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นโรคสมองเสื่อมได้ เช่นในเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจ มีการสูญเสียหรือเสียชีวิตของญาติที่ใกล้ชิด หรือมีเหตุการณ์ที่ทำให้ผิดหวังมาก ๆ ซึ่งทำให้ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์หรืออารมณ์เหล่านี้มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป อาจจะเก็บตัว มีความคิดความรู้สึกสับสน หรือหลง ๆ ลืม ๆ ได้

ความคิดความรู้สึกสับสน หรือหลง ๆ ลืม ๆ นี้จะเป็นอยู่ชั่วคราวและจะหายไปเมื่อผู้ที่ประสบเหตุการณ์กระทบกระเทือนจิตใจหรืออารมณ์เหล่านี้มีสภาพจิตใจที่ดีขึ้น ซึ่งปัญหาทางอารมณ์นี้ต้องการความเข้าใจและการสนับสนุนทางด้านจิตใจจากครอบครัว เพื่อน ๆ และผู้ใกล้ชิด

ภาวะความรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย (mild cognitive impairment)

ภาวะความรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย เป็นภาวะที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง ภาวะเสื่อมถอยของสมองจากอายุที่เพิ่มขึ้น (normal aging) กับ โรคสมองเสื่อม (dementia) โดยจะพบว่าประสิทธิภาพการทำงานของสมองจะลดลงอย่างน้อย 1 ด้านจาก 6 ด้าน ดังนี้

  1. สมาธิจดจ่อน้อยลง ทำให้ลืมกิจกรรมที่จะทำหรือกำลังทำอยู่ เช่น ลืมว่าวางกุญแจรถไว้ตรงไหน
  2. ความเร็วในการใช้ความคิดลดลง ตัดสินใจช้าลง แก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ยากขึ้น
  3. ความจำแย่ลง โดยเฉพาะความจำระยะสั้น เช่น ลืมว่ามีญาติมาเยี่ยมเมื่อวาน จำไม่ได้ว่าเมื่อวานคุยกับใครและคุยว่าอะไร
  4. มีปัญหาการใช้ภาษา เช่น นึกคำที่จะพูดไม่ออก พูดไม่รู้เรื่อง ฟังไม่เข้าใจ
  5. จำทิศทางไม่ได้ ทำให้หลงทางบ่อย หรือลืมทักษะในการทำงาน
  6. มีความผิดปกติทางด้านพฤติกรรมและอารมณ์ เช่นมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในที่สังคม ไม่เข้าสังคม มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นน้อยลง มีอารมณืฉุนเฉียวง่าย ซึมเศร้า วิตกกังวล

อาการของภาวะความรู้คิดบกพร่องเล็กน้อยนี้ในช่วงแรกจะดูไม่แตกต่างจากอาการที่พบในผู้ที่อายุมากทั่วไป แต่ในคนปกติอาการเหล่านี้จะคงที่ แต่ในผู้ที่มีภาวะความรู้คิดบกพร่องเล็กน้อยอาการจะแย่ลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น ภาวะนี้อาจจะพัฒนาจนเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ แต่อย่างไรก็ตามผู้ที่มีภาวะความรู้คิดบกพร่องเล็กน้อยยังคงทำกิจวัตรและดำเนินชีวิตประจำวันต่าง ๆ ได้ แต่อาจต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือมากขึ้นกว่าเดิม

กลุ่มอาการภาวะสมองเสื่อมอื่น ๆ

นอกจากโรคอัลไซเมอร์แล้วยังมีโรคสมองเสื่อมอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของอาการหลง ๆ ลืม ๆ ได้ เช่น โรคสมองเสื่อมของสมองส่วนหน้า (frontotemporal dementia) โรคเลวี บอดี (Lewy body disease) โรคสมองเสื่อมจากหลอดเลือดตีบหรือสมองขาดเลือด (vascular dementia)

เราควรทำอย่างไรหากคุณหรือคนใกล้ชิดมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ

หากคุณหรือญาติพี่น้องมีอาการหลง ๆ ลืม ๆ หมั่นสังเกตตัวเองและญาติพี่น้องว่า อาการหลง ๆ ลืม ๆ นั้น กระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่ หากมีผลกระทบและเกิดขึ้นบ่อยครั้งจนเป็นที่น่ากังวล ควรมาพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยเพื่อหาแนวทางรักษาอย่างทันท่วงที

การรักษาภาวะสมองเสื่อมในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้ แต่การตรวจคัดกรองความเสี่ยงของภาวะโรคสมองเสื่อมโดยเฉพาะในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่เนิ่น ๆ  ถือเป็นการป้องกันหรือสามารถช่วยชะลออาการของตัวโรคได้ ร่วมกับการดูแลและปรับพฤติกรรมของตัวเองให้เหมาะสม และการรับประทานยาเพื่อช่วยชะลออาการที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญนั้น จะช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาวได้มากกว่าผู้ที่มีความเสี่ยงของภาวะโรคสมองเสื่อมและไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยรักษาอย่างทันท่วงที ทำให้สมองมีภาวะเสื่อมถอยจนไม่สามารถรักษาได้

อย่างไรก็ตามผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมแล้ว หรือบางท่านอาการหลง ๆลืม ๆ อาจยังไม่รุนแรงถึงขั้นเป็นโรคสมองเสื่อม แต่ก็จำเป็นอย่างมากที่ต้องมีผู้ดูแล เพราะบางครั้งอาการหลง ๆ ลืม ๆ นี้อาจทำให้เกิดอุบัติเหตุ เช่น พลัดตกหกล้มจากการหาของที่ต้องการ หรืออาจลืมกินยาที่ต้องกินประจำซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพระยะยาวได้

ปัจจุบันมีทางเลือกในการดูแลผู้สูงวัยโดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะโรคสมองเสื่อมมากขึ้น การเลือกสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับการใช้ชีวิตของผู้ที่มีภาวะเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นและไม่ควรมองข้าม เพราะสถานที่ที่มุ่งเน้นการออกแบบให้เหมาะกับผู้สูงวัยจะช่วยส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตประจำวันที่ดี ลดอุบัติเหตุจากการพลัดตกหกล้ม  และหากมีกิจกรรมที่กระตุ้นและส่งเสริมพัฒนาการทางด้านสุขภาพสมองด้วยแล้วนั้น ยิ่งมีส่วนช่วยชะลอความเสื่อมของสมองลงได้

Health & Brain Center ภายในพื้นที่โครงการ The Aspen Tree เป็นการให้บริการที่ส่งเสริมทั้งทางด้านสุขภาพสมอง และและชะลอการเกิดภาวะสมองเสื่อม ตลอดจนบริการดูแลผู้สูงวัยที่มีปัญหาด้านสมองและความจำ พร้อมทั้งมีกิจกรรมที่จะช่วยในเชิงป้องกันและชะลออาการเสื่อมของสมอง โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางดูแลสุขภาพตลอด 24 ชั่วโมง  เพื่อทำให้ท่านมั่นใจได้ถึงความปลอดภัย สะดวกสบาย และอุ่นใจทุก ๆ ด้าน

ใช้ชีวิตอย่างไร้กังวลในช่วงเวลาอิสระของชีวิต ร่วมค้นหาคำตอบของชีวิตที่สมบูรณ์แบบไปด้วยกัน

รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก https://mqdc.com/aspentree

โทร. 1265

LINE OA : @TheAspenTree หรือ คลิก https://mqdc.link/3wMiKJ1

PUBLISHED : 2 ปีที่แล้ว

facebook twitter line

RELATE ARTICLES

MQDC
การยืนยัน