ปัจจุบันเรายังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของโรคอัลไซเมอร์ อย่างไรก็ตามโรคอัลไซเมอร์นี้อาจเกิดได้จากหลาย ๆ ปัจจัย เช่น เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสมองเมื่ออายุมากขึ้น ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน และอาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรมด้วย ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละคน ดังนั้นการป้องกันและรับมือกับโรคอัลไซเมอร์นั้น เราควรทำความเข้าใจกลไกการเกิดโรคอัลไซเมอร์ และลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ในอนาคต
โรคอัลไซเมอร์คืออะไร?
โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s disease) เป็นหนึ่งในโรคทางระบบสมอง ที่เกิดจากความเสื่อมถอยของการทำงาน หรือมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของเนื้อเยื่อสมอง ซึ่งปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ได้มีการศึกษาและพบว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะมีลักษณะแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งสมองของผู้ป่วยโรคนี้จะพบว่ามีการสะสมของโปรตีนอะไมลอยด์ (beta-amyloid) เกิดเป็นกลุ่มก้อนของอะไมลอยด์ (amyloid plaques) สะสมระหว่างเซลล์สมอง นอกจากนี้ยังพบการสะสมของโปรตีนเทา (tau tangles) ภายในเซลล์สมอง จนทำให้การเชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมองเสียไป และทำให้เซลล์สมองบริเวณนั้นเสียการทำงานไปด้วย ส่งผลให้เกิดภาวะสมองเสื่อมโดยอาการเริ่มต้นจะมีอาการ หลง ๆ ลืม ๆ และหากปล่อยไว้อาจมีอาการมากขึ้นจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จำเป็นจะต้องมีผู้ดูแลช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวัน เพราะกรณีที่อาการรุนแรงแล้วผู้ป่วยอาจจะไม่สามารถช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้
โรคอัลไซเมอร์เกิดจากอะไร?
จากที่กล่าวข้างต้นว่าโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่เกิดจากปัจจัยหลาย ๆ อย่างรวมกัน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีทั้งปัจจัยที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ และปัจจัยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดย 3 ปัจจัยที่สำคัญได้แก่ อายุที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยทางพันธุกรรม และปัจจัยทางด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์ ซึ่งปัจจัยด้านอายุที่มากขึ้น และปัจจัยทางพันธุกรรมเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือป้องกันได้ แต่ปัจจัยทางด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์ เป็นปัจจัยที่เราสามารถป้องกันได้โดยการปรับพฤติกรรมต่าง ๆ ช่วยลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้ โดยรายละเอียดของแต่ละปัจจัย มีดังนี้
อายุที่มากขึ้น
แม้ว่าอายุที่มากขึ้นจะไม่ได้ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ได้โดยตรง แต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มโอกาสการเป็นอัลไซเมอร์มากขึ้น ที่กล่าวเช่นนี้เป็นเพราะว่าในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป จะพบอัตราผู้ป่วยเป็นอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าในทุก ๆ 5 ปีที่อายุเพิ่มขึ้น และพบอีกว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่อายุตั้งแต่ 85 ปีขึ้นไปอาจป่วยเป็นอัลไซเมอร์ จากข้อมูลเหล่านี้ทำให้เห็นได้ว่าอายุที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งของโรคอัลไซเมอร์
นักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาเพื่ออธิบายว่าทำไมอายุที่เพิ่มขึ้นจึงเป็นปัจจัยของโรคอัลไซเมอร์ เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าอายุที่เพิ่มขึ้นส่งผลต่อเซลล์สมองและเซลล์ชนิดอื่น ๆ ที่อยู่ในสมองด้วย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ประกอบไปด้วย การฝ่อลีบ (การหดตัว) ของสมองบางส่วน การอักเสบ การเกิดความเสียหายของหลอดเลือด การเกิดสารอนุมูลอิสระ และกระบวนการสร้างพลังงานภายในเซลล์ที่บกพร่องไป การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ เหล่านี้น่าจะเป็นกลไกที่อธิบายได้ว่าทำไมอายุที่มากขึ้นจึงเป็นสาเหตุหนึ่งของอัลไซเมอร์
แต่อายุที่เพิ่มขึ้นเป็นเพียงแค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีข้อมูลที่พบว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 90 ปีหลาย ๆ คนก็ไม่ได้มีภาวะของโรคสมองเสื่อม ดังนั้นเราจึงไม่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจนว่าอายุที่เพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุโดยตรงของโรคอัลไซเมอร์
ปัจจัยด้านพันธุกรรมของโรคอัลไซเมอร์
พันธุกรรมหรือยีน (genes) เป็นสิ่งที่ได้รับมาจากพ่อแม่ที่ควบคุมลักษณะต่าง ๆ ของร่างกาย รวมไปถึงความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะเป็นโรคต่าง ๆ ด้วย หลาย ๆ คนอาจจะเคยคิดว่าหากมีพ่อแม่ หรือญาติพี่น้องเป็นโรคอัลไซเมอร์แล้ว ตนเองก็จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ด้วย ซึ่งความเชื่อนี้อาจเป็นความเชื่อที่ไม่ถูกต้องนัก เพราะการที่มีพ่อแม่เป็นอัลไซเมอร์นั้นไม่ได้บอกว่าเราจะป่วยเป็นอัลไซเมอร์ด้วย แต่จะมีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้มากกว่าคนอื่น ๆ เท่านั้น
โรคอัลไซเมอร์สามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภทหลัก ๆ คือ โรคอัลไซเมอร์ชนิดเกิดเร็ว (early-onset Alzheimer’s) และ โรคอัลไซเมอร์ชนิดเกิดช้า (late-onset Alzheimer’s) ซึ่งโรคอัลไซเมอร์ทั้งสองประเภทมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม
- โรคอัลไซเมอร์ชนิดเกิดเร็ว (early-onset Alzheimer’s) เป็นโรคอัลไซเมอร์ที่พบในคนอายุระหว่าง 30-65 ปี เป็นโรคอัลไซเมอร์ที่พบได้น้อย โดยพบว่าคนเป็นโรคอัลไซเมอร์ชนิดนี้มีน้อยกว่า 10% ของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ทั้งหมด ซึ่งในบางรายพบว่าอาจมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของยีนและมีการส่งต่อมาจากพ่อแม่ โดยพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของยีน 1 ใน 3 ยีนนี้ ได้แก่ อะไมลอยพรีเคอเซอร์โปรตีน (amyloid precursor protein: APP) บนโครโมโซมคู่ที่ 21 พรีซินิลิน 1 (presenilin 1: PSEN1) บนโครโมโซมคู่ที่ 14 และ พรีซินิลิน 2 (presenilin 2: PSEN2) บนโครโมโซมคู่ที่ 1 และนอกจากยีน 3 ตำแหน่งนี้นักวิทยาศาสตร์ก็ยังพบอีกว่ายังมีองค์ประกอบทางพันธุกรรมอื่น ๆ อีกที่มีผลต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ ซึ่งนักวิจัยกำลังพยายามศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อให้ทราบถึงยีนหรือปัจจัยทางพันธุกรรมอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ และนำเอาความรู้นั้นมาใช้เพื่อคิดค้นหาวิธีป้องกันและรักษาโรคอัลไซเมอร์ต่อไป
- โรคอัลไซเมอร์ชนิดเกิดช้า (late-onset Alzheimer’s) เป็นโรคอัลไซเมอร์ชนิดที่พบในผู้ป่วยส่วนใหญ่ โดยจะพบในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ปัจจุบันยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าอัลไซเมอร์ชนิดนี้สัมพันธ์กับยีนตัวใด แต่นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับยีนที่ชื่อว่า ยีนอะโพลิโพโปรตีนอี หรือ อะโพอี (apolipoprotein E; ApoE) ซึ่งเป็นชนิด อะโพอี 4 (ApoE4) ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า อะโพอี 4 คือยีนที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์ประเภทนี้
อย่างไรก็ตามการที่มียีนอะโพอี 4 ไม่ได้บอกว่าจะต้องป่วยเป็นอัลไซเมอร์ เพราะจากการเก็บข้อมูลพบว่าผู้ที่มียีนอะโพอี 4 บางรายก็ไม่ได้ป่วยเป็นอัลไซเมอร์ และผู้ป่วยอัลไซเมอร์บางรายก็ไม่ได้มียีนอะโพอี 4 อยู่ ดังนั้นการมียีนอะโพอี 4 นี้จึงเป็นเพียงการเพิ่มความเสี่ยงหรือโอกาสการเกิดโรคอัลไซเมอร์เท่านั้น
ตารางสรุปความแตกต่างของโรคอัลไซเมอร์ทั้งสองประเภท
โรคอัลไซเมอร์ชนิดเกิดเร็ว (early-onset Alzheimer’s) |
โรคอัลไซเมอร์ชนิดเกิดช้า (late-onset Alzheimer’s) |
พบอาการของโรคได้ตั้งแต่อายุ 30 ปี ถึงก่อน 65 ปี |
พบอาการของโรคได้ตั้งแต่อายุ 65 ปี ขึ้นไป |
พบได้ค่อนข้างน้อย |
พบได้มาก |
สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการการส่งต่อของยีนที่เกิดการเปลี่ยนจากพ่อแม่มาสู่ลูก |
อาจจะเป็นผลมาจาก ยีนที่มีชื่อว่า อะโพลิโพโปรตีนอี 4 (ApoE4) |
ปัจจัยทางด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์
ปัจจัยกล่าวถึงในข้างต้นเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือป้องกันได้ แต่ยังมีอีกปัจจัยที่สำคัญที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคอัลไซเมอร์คือ ปัจจัยทางด้านสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์ ซึ่งมีการศึกษาพบว่าเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคนอกเหนือจากปัจจัยด้านพันธุกรรม
ปัจจัยด้านสุขภาพเป็นปัจจัยหนึ่งที่พบว่ามีความสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ โดยพบว่ามีโรคต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับอัลไซเมอร์ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ความดันสูง รวมไปถึงโรคทางเมแทบอลิก (metabolic disease: ภาวะที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารที่ผิดปกติของร่างกาย) เช่น โรคเบาหวาน และโรคอ้วน ในปัจจุบันจึงมีการศึกษาเกี่ยวกับการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเหล่านี้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการลดความเสี่ยงต่ออัลไซเมอร์ด้วย
การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การออกกำลังกาย การมีส่วนร่วมกิจกรรมทางสังคม การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ รวมไปถึงการหากิจกรรมที่พัฒนาจิตใจ เป็นสิ่งที่จะช่วยให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพดีขึ้น และลดความเสี่ยงต่ออัลไซเมอร์ได้ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านเชื้อชาติ และเพศที่อาจมีผลต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมอีกด้วย
ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้อยู่ในระหว่างการศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อให้เข้าใจถึงปัจจัยและสาเหตุต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ และนำเอาความรู้ที่ได้มาใช้เพื่อคิดค้นหาวิธีป้องกันและรักษาโรคอัลไซเมอร์ต่อไปในอนาคตข้างหน้า
ค้นพบนิยามใหม่ของการใช้ชีวิตในวัยอิสระ ที่ The Aspen Tree The Forestias Operated by Baycrest ภายใต้แนวคิดการดูแลตลอดชีวิตแบบครบวงจร “Holistic Lifetime Care”
เมื่อก้าวเข้าสู่วัย 50+ เราอยากมีชีวิตแบบไหน ? คงเป็นคำถามที่ใครหลาย ๆ ได้มองถึงการวางแผนระยะยาว ที่จะใช้ชีวิตในวัยอิสระนี้อย่างจริงจัง และจะดีแค่ไหนถ้าเราสามารถเลือกออกแบบชีวิตและมีที่พักอาศัยที่ดูแลเราไปตลอดชีวิตแบบครบวงจร (Holistic Lifetime Care) มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน มุ่งเน้นการบริการและการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Care) ผสานกับกิจกรรมและสันทนาการต่าง ๆ ระหว่างวัน ผ่านโปรแกรม Health & Wellness ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของวัยอิสระ ดูแลโดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ ที่ร่วมทำงานกับ Baycrest ผู้นำด้านการวิจัย และดูแลสุขภาพผู้สูงวัยระดับโลกจากประเทศแคนาดาที่มีประสบการณ์มากกว่า 100 ปี ช่วยส่งเสริมสุขภาพกาย จิตใจ และสมองของคุณให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อทำให้คุณมั่นใจได้ถึงความปลอดภัย สะดวกสบาย และอุ่นใจทุก ๆ ด้าน
พื้นที่โครงการ The Aspen Tree The Forestias ยังมี Health & Brain Center ที่คอยให้บริการด้านสุขภาพสมอง และชะลอการเกิดภาวะสมองเสื่อม โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางดูแลสุขภาพตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้คุณอุ่นใจ และมีสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม
ใช้ชีวิตอย่างไร้กังวลในช่วงเวลาอิสระของชีวิต ร่วมค้นหาคำตอบของชีวิตที่สมบูรณ์แบบไปด้วยกัน
รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก https://mqdc.com/aspentree
โทร. 1265
LINE OA : @TheAspenTree หรือ คลิก https://mqdc.link/3Emhkde
อ้างอิงข้อมูลจาก