ลงทะเบียน
CHAT
WITH US

Emotional Wellness…สุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีสำคัญอย่างไร?

Emotional Wellness…สุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีสำคัญอย่างไร?

ในแต่ละวันเราทุกคนต้องเผชิญกับอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ มากมาย มีทั้งอารมณ์ด้านบวกที่ทำให้เรารู้สึกดี แต่ในอีกด้านอารมณ์ด้านลบก็กระทบกระเทือนจิตใจของเรา อารมณ์เป็นสิ่งที่เรารู้สึกได้แต่เป็นสิ่งที่ควบคุมได้ยากและอาจส่งผลต่อความสามารถในการจัดการสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของเรา อารมณ์ของเราจะส่งผลต่ออารมณ์ของผู้ใกล้ชิด และในทางกลับกัน อารมณ์ญาติพี่น้องหรือผู้ใกล้ชิดก็ส่งผลต่ออารมณ์ของเราเช่นกัน

ดังนั้นความสามารถในการจัดการอารมณ์หรือการมี “สุขภาวะทางอารมณ์ที่ดี” จึงมีผลอย่างมากต่อสภาวะจิตใจ รวมไปถึงความสัมพันธ์ที่ดีกับครอบครัวและคนใกล้ชิด และส่งผลต่อสุขภาพจิตและสุขภาพของสมองโดยรวมอีกด้วย  เพราะฉะนั้น สุขภาพจิตที่ดีจึงเริ่มต้นได้ที่สุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีเช่นกัน

สุขภาวะทางอารมณ์ (emotional wellness) คืออะไร

สุขภาวะทางอารมณ์ คือ ความสามารถในการรับรู้และรับมือกับอารมณ์ต่าง ๆ สามารถจัดการกับความเครียดและความกดดันในชีวิตได้อย่างเข้าใจ รวมไปถึงความสามารถในการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงและช่วงเวลาที่ยากลำบากได้ ผู้ที่มีสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีจะทำให้สามารถจัดการชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนใกล้ชิดรอบตัว                             

สุขภาวะทางอารมณ์มีความสำคัญอย่างไร

สุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีมีผลโดยตรงต่อสุขภาพจิตโดยรวม และยังส่งผลต่อความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และจากการศึกษายังพบว่าสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีมีผลต่อสุขภาพร่างกายด้วย ดังนั้นการฝึกการมีสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีจึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นความสามารถในการจัดการอารมณ์ของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพและยังมีผลไปถึงการจัดการอารมณ์และความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างอีกด้วย หากกล่าวถึงความสำคัญของสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีเราอาจกล่าวได้ว่า สุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีนั้น        

  • ทำให้สุขภาพจิตดี
  • ทำให้ความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างดี
  • ทำให้การดำเนินชีวิตดี
  • ทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมากขึ้น
  • ทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีข้อมูลทางวิทยศาสตร์สนับสนุนอย่างชัดเจนว่าการมีสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีนั้น ทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสการเจ็บป่วยต่าง ๆ

สุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีควรเป็นอย่างไร

สุขภาวะทางอารมณ์ที่ดี คือ ความสามารถที่จะรับรู้ถึงอารมณ์และจัดการได้อย่างเหมาะสม การมีสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีต้องอาศัยองค์ประกอบด้วยกันหลายด้าน ดังต่อไปนี้

  • สามารถรับรู้ความรู้สึกของตนเอง และยอมรับว่าความรู้สึกนั้นตามความเป็นจริง ไม่ปฏิเสธการมีอยู่ของความรู้สึกเหล่านั้น หรือพยายามที่จะไม่ยอมรับความรู้สึกนั้น ๆ เช่น หากกำลังโกรธก็รับรู้และยอมรับว่ากำลังรู้สึกโกรธอยู่
  • สามารถรับมือและแสดงออกทางอารมณ์ต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นโกรธ เศร้า กลัว วิตกกังวล ตลกขำขัน พึงพอใจ
  • สามารถแสดงออกและสามารถเผชิญหน้ากับผู้อื่นอย่างเหมาะสม
  • รู้สึกดีกับตนเอง มีความภูมิใจในตนเอง และยอมรับในตัวตนของตนเอง
  • มีทักษะในการรับมือกับความเครียด ความหงุดหงิด ภาวะวิกฤติ หรืออารมณ์ด้านลบอื่น ๆ
  • รับรู้และยอมรับในอัตลักษณ์ทางเพศของตนเอง
  • สามารถสร้างและรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนใกล้ชิด

โดยสัญญาณที่บ่งบอกถึงการมีสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีมีอยู่หลายประการ เช่น

  • สามารถพูดคุยบอกเล่าเกี่ยวกับอารมณ์หรือความกังวลของตนเองได้
  • สามารถบอกปฏิเสธได้เมื่อจำเป็นโดยไม่รู้สึกผิด
  • รู้สึกพึงพอใจกับชีวิตเป็นส่วนใหญ่
  • รู้สึกได้ว่ามีคนคอยห่วงใย ให้การสนับสนุน ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว
  • มีวิธีการผ่อนคลาย เพื่อลดความเครียดต่าง ๆ

คำถามเช็กสุขภาวะทางอารมณ์

แล้วเราจะสามารถเช็กสุขภาวะทางอารมณ์ได้อย่างไร? การลองพิจารณาคำถามง่าย ๆ ต่อไปนี้

  • คุณมองความเครียดเป็นโอกาสในการเรียนรู้หรือสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง?
  • คุณรับรู้ความรู้สึกทางกาย อารมณ์ และพฤติกรรมของคุณในเวลาที่คุณเครียดได้หรือไม่?
  • คุณยอมให้ตนเองรับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่?
  • คุณดูแลตนเองอย่างไรในแต่ละวัน?
  • หากคุณกำลังลำบากและจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือ คุณจะกล้าพอที่จะเอ่ยปากขอให้คนอื่นช่วยหรือไม่?

สุขภาวะทางอารมณ์สร้างได้อย่างไร

สุขภาวะทางอารมณ์เป็นทักษะที่ทุกคนสามารถฝึกฝนให้แข็งแกร่งขึ้นได้ โดยมีเคล็ดลับสร้างสุขภาวะทางอารมณ์อยู่ด้วยกัน 6 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. สร้างพฤติกรรมล้มแล้วลุกเป็น (build resilience)

เพราะชีวิตล้วนมีทั้งขึ้นและลง ผู้ที่มีสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีจะสามารถฟื้นตัวจากความล้มเหลว ลุกขึ้นจากความผิดพลาดได้อย่างรวดเร็วและเข้มแข็ง โดยพฤติกรรมล้มแล้วลุกเป็นสามารถฝึกฝนได้ ดังนี้

  • รู้จักรักษาสุขภาพร่างกาย
  • ให้เวลากับตัวเองบ้างในแต่ละวัน
  • หัดมองปัญหาจากมุมมองอื่น ๆ
  • เรียนรู้จากความผิดพลาด
  • หมั่นแสดงความขอบคุณ
  • ลองพิจารณาความเชื่อ ความหมาย และเป้าหมายของชีวิต

2. รู้จักผ่อนคลายปล่อยวาง (reduce stress)

เพราะเราต้องพบเจอกับสถานการณ์ที่ตึงเครียด ความเครียดช่วยกระตุ้นให้เราตื่นตัว รู้สึกมีพลังในช่วงเวลาที่จำเป็น แต่ความเครียดที่ต่อเนื่องยาวนาน กลายเป็นสะสมเรื้อรังกลับจะส่งผลเสียต่อทั้งจิตใจ สมอง และร่างกาย การมีสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีจึงต้องอาศัยการฝึกผ่อนคลายความเครียด ดังต่อไปนี้      

  • นอนให้พอ
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • รู้จักเรียงลำดับความสำคัญ อะไรทำก่อน อะไรทำทีหลัง
  • อย่ากดดันตัวเองจนเกินไป ฝึกให้กำลังใจ และอ่อนโยนกับตัวเอง
  • ค้นหาวิธีผ่อนคลายที่เหมาะกับเรา
  • กล้าที่จะเอ่ยปากขอความช่วยเหลือ

3. ให้ความสำคัญกับการนอนอย่างมีคุณภาพ (get quality sleep)

เพราะมีอะไรหลายอย่างที่เราต้องทำในแต่ละวัน ช่วงเวลาที่จะได้นอนหลับพักผ่อนจึงดูจะน้อยลง แต่การนอนหลับสำคัญอย่างมากต่อสุขภาพจิต และสมองของเรา เมื่อเราอดนอน สมองก็จะเหนื่อยล้า การคิดอ่าน การรับรู้เท่าทันอารมณ์ก็ถดถอย การสร้างสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีจึงต้องมีการนอนที่ได้คุณภาพ ซึ่งสามารถฝึกฝนได้ ดังต่อไปนี้

  • มีวินัยในการนอน ให้เวลาเข้านอนและตื่นนอนเป็นเวลาเดิม ๆ ในทุกวัน
  • จัดห้องนอนให้มืดและเงียบสงบ
  • อย่าลืมออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ เพราะการออกกำลังกายจะทำให้คุณภาพการนอนดีขึ้น
  • ใช้หน้าจออย่างพอดี ไม่ดูทีวีหรือเล่นมือถือมากจนรบกวนการนอน
  • ฝึกผ่อนคลายก่อนการนอนหลับ
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือชากาแฟ ในช่วงก่อนเข้านอน
  • หากฝึกฝนตามข้อแนะนำข้างต้นแล้ว การนอนหลับไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาบุคลากรทางการแพทย์

4. มีสติให้ใจอยู่กับปัจจุบัน (be mindful)

เพราะการมีสติอยู่กับปัจจุบันช่วยให้เราสามารถรับรู้และเท่าทันต่ออารมณ์และความรู้สึกภายในของตนเอง ผู้อื่น และสิ่งต่าง ๆ รอบตัว การมีสติทำให้การรับรู้มีความละเอียดเท่าทันต่อปัจจุบัน การฝึกสติต้องอาศัยการฝึกฝนซึ่งสามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ ดังนี้

  • หายใจเข้าลึก ๆ ให้รู้สึกได้ถึงลมเย็นที่ไหลผ่านรูจมูก แล้วนับในใจช้า ๆ 1, 2, 3, 4 จากนั้นหยุดไว้หนึ่งวินาที แล้วหายใจออกทางปากอย่างช้า ๆ นับในใจเช่นกัน 1, 2, 3, 4, 5 ฝึกทำซ้ำบ่อย ๆ จนสามารถรู้สึกถึงลมหายใจได้อย่างเป็นธรรมชาติ
  • ลองออกไปเดินเล่นอย่างค่อย ๆ ใส่ใจพิจารณาธรรมชาติแวดล้อมรอบตัว กลิ่น แสงสี วิวทิวทัศน์ ลมที่พัดมากระทบ
  • รับประทานอาหารอย่างมีสติ ใส่ใจรับรู้รสชาติของทุก ๆ คำที่กำลังเคี้ยว และรู้ตัวเมื่ออิ่มอย่างพอดี
  • ลองฝึกรับรู้ความรู้สึกของร่างกาย ทำความรู้จักร่างกายตนเองจากความรู้สึกภายใน ค่อย ๆ พิจารณาความรู้สึกไปทีละส่วน ๆ ของร่างกาย
  • ลองค้นหาแหล่งเรียนรู้วิธีฝึกสติแบบอื่น ๆ ที่เหมาะกับเรา

5. ทำใจรับมือกับการสูญเสียอย่างเข้าใจ (cope with loss)
เพราะการสูญเสียเป็นเรื่องธรรมชาติ เมื่อมีคนที่เรารักจากไป ย่อมมีความโศกเศร้าเสียใจเกิดขึ้น เราสามารถเรียนรู้วิธีรับมือกับอารมณ์ความสูญเสียได้ดังต่อไปนี้

  • ใส่ใจดูแลตนเอง
  • พูดคุยกับเพื่อนที่ให้ความห่วงใย
  • อย่าเพิ่งผลีผลามตัดสินใจอะไรในทันที
  • เข้าร่วมกลุ่มผู้ที่ประสบความสูญเสียเพื่อช่วยเหลือกันและกัน
  • ลองพิจารณาเข้ารับการปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญ
  • หากประสบปัญหากับการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์
  • ทำใจยอมรับ และอดทนกับความรู้สึกสูญเสีย และเมื่อเวลาผ่านไป ความรู้สึกทางใจเราจะค่อย ๆ ดีขึ้น

6. สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับสังคมรอบตัว (strengthen social connections)

เพราะงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ค้นพบแล้วว่าความสัมพันธ์ที่ดีเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลอย่างมากต่อทั้งสุขภาพกายจิตใจ และสมอง การมีความสัมพันธ์ที่ดีจึงช่วยส่งเสริมให้มีอายุที่ยืนยาว ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับคู่ชีวิต คนในครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนบ้าน และคนในสังคม ล้วนเกี่ยวเนื่องถึงกัน ซึ่งสามารถเสริมสร้างได้ดังนี้

  • สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกหลาน
  • สร้างนิสัยกระฉับกระเฉงให้กับตัวเอง ครอบครัว และเพื่อนใกล้ชิด
  • หากคุณต้องคอยดูแลสมาชิกอีกคนในครอบครัว ลองขอความช่วยเหลือจากคนอื่นดูบ้าง อย่าแบกรับทุกอย่างไว้คนเดียว
  • เข้าชมรมร่วมกลุ่มทำงานอดิเรกหรือกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น วาดรูป หมากรุก เปตอง เป็นต้น
  • ลองเข้าคลาสเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
  • ทำงานอาสาช่วยเหลือสังคมในด้านที่เราให้ความสำคัญ เช่น โรงเรียน ห้องสมุด ผักสวนครัวในชุมชน หรือการทำนุบำรุงศาสนสถาน
  • ลองออกเดินทางท่องเที่ยว พบเจอผู้คน ทำความรู้จักเพื่อนใหม่บ้าง

สรุป

เราทุกคนล้วนต้องประสบกับอารมณ์ต่าง ๆ นานาที่ผ่านเข้ามาในทุกช่วงเวลาของชีวิต ทั้งอารมณ์ด้านบวกและด้านลบ สุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีคืออีกมิติหนึ่งที่สำคัญอย่างมากต่อการมีสุขภาพที่ดีอย่างครบองค์รวม เพราะการมีสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีจะช่วยให้สุขภาพจิตดี รักษาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดให้ยังคงอบอุ่นหัวใจ และช่วยปกป้องสมองจากความเสื่อม การใช้ชีวิตในสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมและสนับสนุนการมีสุขภาวะทางอารมณ์ที่ดีอย่างแท้จริงและรอบด้าน ที่มีการวางแผนจัดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม รวมไปถึงการวางแผนกิจกรรมที่ช่วยและส่งเสริมสุขภาวะทางอารมณ์ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีครบรอบด้าน

สุขภาพกาย จิตใจ และสมองที่แข็งแรง คือของขวัญที่ดีที่สุดสำหรับวัย 50+ ที่ The Aspen Tree The Forestias Operated by Baycrest เราพร้อมดูแลคุณตลอดชีวิตแบบครบวงจร

ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า ทำให้ผู้คนมีอายุที่ยืนยาวขึ้น และสิ่งที่นับเป็นของขวัญที่ล้ำค่าของผู้สูงวัย คือ การมีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ มีความหมาย ปราศจากความกังวล และทั้งหมดนี้คือแนวคิดที่ The Aspen Tree The Forestias ได้ร่วมออกแบบและพัฒนาร่วมกับผู้นำด้านการวิจัย และดูแลสุขภาพผู้สูงวัยระดับโลกจากประเทศแคนาดาอย่าง Baycrest ในการเติมเต็มทุกความต้องการ พร้อมบริการด้านสุขภาพและการดูแลครบวงจร (Holistic Lifetime Care) พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครบครัน ผสานกับโปรแกรม Health & Wellness ที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของวัยอิสระ อาทิเช่น โยคะ ว่ายน้ำ ร้องเพลง เล่นดนตรี นั่งสมาธิ กิจกรรมกลางแจ้ง ธาราบำบัด และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพกาย จิตใจ และสมองของคุณให้แข็งแรงอยู่เสมอ

พื้นที่โครงการ The Aspen Tree The Forestias ยังมี Health & Brain Center ที่คอยให้บริการด้านสุขภาพและชะลอการเกิดภาวะสมองเสื่อม โดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางดูแลสุขภาพตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้คุณอุ่นใจ และมีสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม

ใช้ชีวิตอย่างไร้กังวลในช่วงเวลาอิสระของชีวิต ร่วมค้นหาคำตอบของชีวิตที่สมบูรณ์แบบไปด้วยกัน

รายละเอียดเพิ่มเติมคลิก https://mqdc.com/aspentree

โทร. 1265

LINE OA : @TheAspenTree หรือ คลิก https://mqdc.link/3Emhkde

PUBLISHED : 1 ปีที่แล้ว

facebook twitter line

RELATE ARTICLES

MQDC
การยืนยัน